สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไต้หวัน (TPCA) นำคณะสมาชิกกว่า 60 ราย เดินทางเยือนไทย
จับมือบีโอไอ (BOI) และสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย (THPCA) ร่วมจัดสัมมนาใหญ่ “TPCA Thailand PCB Forum 2025” เตรียมพร้อมรองรับการลงทุนครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรม PCB ครั้งใหญ่ ตอบรับกระแส AI ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
เผยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีเงินลงทุนไหลเข้าไทยมากกว่า 2 แสนล้านบาท เร่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน พร้อมพัฒนาบุคลากร ปูทางยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางการผลิต PCB ชั้นนำของโลก
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา กระแสการลงทุนของอุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไต้หวัน (Taiwan Printed Circuit Association: TPCA) จึงได้นำคณะสมาชิกกว่า 60 ราย ซึ่งเป็นผู้ผลิต PCB ชั้นนำและซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง เดินทางเยือนไทยเพื่อสำรวจโอกาสการลงทุน
ในโอกาสนี้ TPCA ได้ร่วมมือกับบีโอไอและสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย (Thailand Printed Circuit Association: THPCA) จัดงาน “TPCA Thailand PCB Forum 2025” ณ โรงแรมอวานี สุขุมวิท กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568 โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 ราย งานนี้เป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการลงทุน พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม PCB ในไทยให้แข็งแกร่ง รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคและบุคลากรทักษะสูง รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในอนาคต
แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) เป็นองค์ประกอบสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด และเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า โทรคมนาคม อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ คอมพิวเตอร์ ระบบดิจิทัล ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2565 – 2567) อุตสาหกรรม PCB ในไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีผู้ผลิต PCB และ PCBA รวมถึงผู้ผลิตวัตถุดิบสำคัญ เช่น Copper Clad Laminate และ Prepreg ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอมากกว่า 130 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 202,000 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิต PCB อันดับ 1 ของอาเซียน และติดอันดับ Top 5 ของโลก
ผู้ผลิตรายใหญ่จากไต้หวันที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
ได้แก่ ZDT, Unimicron, Compeq, WUS, Gold Circuit, Unitech และ Dynamic ซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการผลิต PCB ขั้นสูง เช่น High-Density Interconnect PCB, Flexible PCB และ Multilayer PCB ที่ใช้ในอุปกรณ์ AI และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง โดยโรงงานผลิตส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา และสมุทรปราการ และคาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตภายในปีนี้
“ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของโลก ผู้ผลิตจำนวนมากตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิต PCB ทั้งจากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น เพราะมองเห็นจุดแข็งของไทยที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน นิคมอุตสาหกรรม ระบบไฟฟ้าที่เสถียร ศักยภาพด้านพลังงานสะอาด ซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง บุคลากรที่มีคุณภาพ รวมถึงมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ส่งผลให้ไทยเป็นจุดหมายสำคัญของการลงทุนผลิตและส่งออก PCB ไปยังตลาดโลก” นายนฤตม์ กล่าว